64 : กายภาพบำบัดในกิจกรรมประจำวัน ตอนที่ 1 กระติกน้ำดื่มสแตนเลส

สวัสดีครับ เพื่อนๆ ที่ตามอ่านบทความของผม บทความคราวนี้ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การที่ผมต้องตอบคำถามจากคนรู้จักทั้งเก่า และใหม่ ถึงลักษณะภายนอกที่ได้พบเห็นผม เช่น คุณหมอที่เคยรักษาผมบอกว่า ผมดูดีกว่าที่คิด ถ้าเทียบกับอาการที่เป็น หรือผมเคยถูกคนต่อว่า ว่าทำไมไม่ขยับรถ มันขวางรถคันอื่น ผมจึงต้องบอกว่าพิการ จากนั้นเขาก็ให้ผมปลดเบรคมือ ซึ่งผมทำไม่ได้ ก็โดนว่า แค่นี้ไม่ยอมทำให้ เป็นต้น หรือแม้แต่เพื่อนผู้พิการบางท่าน ที่ดูอาการผมแล้วน่าจะดี ดูแข็งแรง

.
อย่างไรก็ดี ผมขออธิบายคร่าวๆ ถึงลักษณะอาการจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลังของผมอีกครั้ง เฉพาะที่แขนถึงนิ้วมือนะครับ คือ
  • ใต้รักแร้ ถ้ามีคนมาจับจะไม่ทราบเลย แต่สามารถยกได้ รวมทั้งถ้ามีอะไรมากดทับนานๆ จะรู้สึกปวดแบบเมื่อยๆ (คือ ไม่รับรู้ แต่ขยับและยกและควบคุมท่อนแขนได้)
  • ผมขอแบ่งแขนถึงข้อมือเป็น 2 ซีก คือ ซีกฝั่งนิ้วก้อย และซีกฝั่งนิ้วโป้ง ซึ่งแขนทั้ง 2 ข้างผม ในปัจจุบัน ถ้ามาจับจะไม่รู้สึกเลย
  • ส่วนซีกฝั่งนิ้วโป้ง จะรู้สึกเหมือนคนปกติ ซึ่งถือว่าเป็นความคืบหน้าของอาการในทิศทางที่ดี ที่เขาเรียกว่า "มี progress" เพราะเมื่อก่อนผมจะรู้สึกชาๆ หนาๆ ครับ
  • บริเวณฝ่ามือ ทั้ง 2 ข้าง จะเป็นหลุม เนื่องจากกล้ามเออุ้งมือ หรือฝ่ามือลีบ และไม่รู้สึกกับสัมผัสใดๆ
  • มือซ้าย จะดีกว่ามือขวา ส่วนความรู้สึกรับรู้ เริ่มจาก นิ้วโป้งรับรู้ดี รู้สึกชาอ่อนมากๆ นิ้วชี้ รู้สึกชามากๆ นิ้วกลาง รู้สึกชาหนามากๆ นิ้วนาง และนิ้วก้อย ไม่รู้สึกรับรู้ใดๆ
  • มือซ้าย ด้านการสั่งงาน ผมโชคดีมากที่นิ้วโป้งซ้ายสามารถขยับได้ มีแรงพอที่จะดึงกระดาษทิชชู่ ด้วยการใช้ฟังก์ชั้นของการสั่งงานนิ้วโป้งในระนาบเดียว ตามแนวขนานกับฝ่ามือ (ไม่สามารถยกตั้งนิ้วโป้ง ในแนวตั้งกับฝ่ามือได้) ส่วนทั้ง 4 นิ้ว สามารถสั่งงานให้ช่วยกันร่วมกระดก ในดับต้นนิ้ว ได้สัก 30 องศา และยังสามารถสั่งงานแยกนิ้วให้ขยับทั้งนิ้วได้ เพียงแต่จะสัมพันธ์กันเป็นคู่ คือ นิ้วชี้กับนิ้วกลาง และนิ้วนางกับนิ้วก้อย ถึงแม้จะสั่งนิ้วใด นิ้วหนึ่ง ก็จะขยับตามด้วยกันทั้งคู่เสมอ
  • ส่วนมือขวานั้น การรับรู้ เหมือนมือซ้ายทุกประการ แต่ด้านการสั่งงาน ไม่สามารถสั่งงานได้เลย

ผมไม่รู้ว่า ด้วยการมองภาพภายนอกของผม จากหลายๆ คนที่ได้พบกัน แล้วมองว่า ผมไม่ได้เป็นหนักหนาอะไร จะเกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเอง และม้าไพที่ดูแลผมรึเปล่า ซึ่งการดูแลตัวเองของผมอีกเรื่องหนึ่ง คือ การออกแบบการทำกายภาพบำบัด ในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมคิดว่า จะนำมาแนะนำเพื่อนๆ ที่อาจเป็นผู้ทุพพลภาพ หรืออาจจะมีญาติ หรือคนรู้จักที่เป็นคล้ายผม
.

โดยหวังว่า ในที่สุด จะเป็นตัวอย่าง ให้ได้นำไปปรับใช้ ดัดแปลง ประยุกต์ ให้เกบกิจกรรม และการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อเป็นการรักษาสภาพของร่างกายไว้ ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ครับ
.

คงต้องเริ่มจากแนวคิดก่อน ผมเคยได้พูดคุยกับนักกายภาพบำบัด แล้วพบว่า ผู้ป่วย หรือผู้พิการส่วนใหญ่ มักละเลยกับการทำกายภาพบำบัด เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องให้เวลา ทำเป็นประจำ เนื่องจากคนปกติ จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วย หรือผู้พิการจะมีข้อจำกัดทางด้านการเคลื่อนไหว จึงจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด
.

ผมก็เช่นเดียวกันกับหลายๆ คน ที่ไม่มีเวลา หรือลดความสำคัญของการทำกายภาพบำบัดลง จนกว่าจะถึงเวลาที่นักกายภาพบำบัดมาดูแลที่บ้าน ดังนั้นใน 1 วัน จะมีเวลามาดูแลตัวเองอย่างตั้งใจ จะสักเท่าไหร่กัน 3 ชั้วโมง 2 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง
.

ผมจึงพยายามหาทางแก้ไข และนำหลักการของการทำกายภาพบำบัดมาสอดแทรกในกิจกรรมประจำวัน ซึ่งง่ายมากๆ นะครับ มันก็คือการพยายามจะใช้ชีวิตในกิจกรรมนั้นๆ ให้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ โดยผมจะยกตัวอย่างเป็นตอนๆ ไปนะครับ เพราะผมรู้สึกว่าบทความในลักษณะนี้ ผมสามารถพิมพ์ได้สบายๆ เนื่องจากอยู่ตรงหน้าทุกวัน
.

เริ่มจากเจ้า "กระติกน้ำสแตนเลส" คู่หูผมเลยครับ เจอกันทุกวัน ซี้ปึก ที่สำคัญเป็นกระติกที่แฟนผมซื้อให้ครับ เห็นกระติกก็นึกถึงหน้าแฟนครับ ตัวมันน่าจะหนักเกือบ 1 กิโลกรัม พอเติมน้ำเต็มน่าจะหนักสัก 1.50 กิโลกรัม ผมเรียกมันว่า "ติกคุง" เรียกคนเดียวนะครับ แต่ไม่ได้บอกใคร
.



นี่ไงครับ หน้าตาสุดหล่อของ "ติกคุง" เพื่อนซี้ของผม


เวลาใช้งาน ผมจะเอาฝ่ามือซ้ายสอดเข้าไปที่หูหิ้ว ซึ่งเหมือนว่ามันถูกออกแบบให้ผมพอดีเลยครับ


แล้วผมก็ยกขึ้นแบบนี้ครับ ทำให้ได้ออกกำลัง เหมือนทำกายภาพบำบัดได้หลายส่วน เช่น ต้นนิ้วทั้ง 4 นิ้ว บริเวณข้อมือ กล้ามเนื้อต้นแขนฝ้งนิ้วโป้ง กล้มเนื้อแขนด้านใน และหัวไหล่


นี่ไงครับ แล้วก็ดูดน้ำจากกระติก


อันนี้ ยกโชว์ให้ดูครับ คือ ถ้านึกได้ก็จะยกแบบนี้ แต่ถ้าไม่ได้นึกถึง ก็ข้ามไป แต่โดยปกติแล้ว เวลาก่อนดื่ม ขณะดื่ม หรือพักดื่ม แล้วดื่มต่อ ก็ต้องยกกระติกค้างไว้อยู่แล้ว

.

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ตัวอย่างของผม คงทำให้เพื่อนๆ นำไปปรับใช้ได้นะครับ ถ้าใครได้ทดลองแล้ว ก็เขียนส่งมาบอกผมได้นะครับ ทั้งทางอีเมล์ หรือใส่มาใน ฟ"แสดงความคิดเห็น" ก็ได้เช่นกันครับ ส่วนตอนต่อๆ ไปที่เกี่ยวข้องกับการทำกายภาพบำบัดในกิจกรรมประจำวัน รบกวนเพื่อนๆ ตามอ่านอีกทีหนึ่ง เพราะผมคงต้องเริ่มเขียนเรื่องแผลกดทับก่อน นะครับ ประมาณ 3 ตอนครับ

.

ขอบคุณครับ
ปรีดา ลิ้มนนทกุล (ผู้ทุพพลภาพมืออาชีพ) Preeda Limnontakul (SCI-C6)
mobile : 086-314-7866 Email : preeda.limnontakul@gmail.com
PWD Outsource Managrment Co., Ltd.

No comments:

Post a Comment

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook