100 : สระผมบนเตียง ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ ที่ทำให้คนดูแลสบายๆ ไม่ต้องแบกต้องอุ้ม

สวัสดีครับเพื่อนๆ ถึงคราวแนะนำการสระผมบนเตียงที่ผมใช้มาตลอดนะครับ โดยขอท้าวความสักเล็กน้อย เอาเรื่องของตัวเองมาเม้าท์นะครับ คือผมยังไม่เคยอาบน้ำเลย แบบทำนองว่า เข้าห้องน้ำ หรือลงอ่างอาบน้ำ หรือเอาสายางรดทั้งตัว ฟอกสบู่ อะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเพื่อนๆ ได้พบเจอผม อาจจะมองว่าสะอาดสะอ้าน น่าจะอาบน้ำ ตลอดมาที่บ้านจะเช็ดตัวให้ วันละ 1 ชั่วโมงนะครับ พร้อมกับการขับถ่ายตอนเช้าอีก 1 ชั่วโมง รวม 2 ชั่วโมงครับ

ผมนั่งทำงานบนเตียง ผมถูกสระผมบนเตียง จะสุข จะทุกข์ อยู่บนเตียงทั้งหมด ดูหนัง ฟังเพลง ก็ด้วยครับ จึงอยากแนะนำการสระผมบนเตียงนะครับ ซึ่งแต่เดิมผมก็ใช้ลูกลมสระผมอันละ ประมาณ 1,500 - 2,000 บาทนะครับ มีขายตามร้านที่ขายสินค้าเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ครับ เช่น เพชรรัตน์ เป็นต้น ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ที่สระผมนั้นแตก สูบลมเข้าไม่ได้ จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ประยุกต์ มาเรื่อยๆ จนเป็นวิธีการปัจจุบันที่ผมกำลังจะเสนอแนะเพื่อนๆ นะครับ ดังนี้

เตรียมอุปกรณ์ดังนี้
  1. โครงเหล็กมีล้อ คือเอาชั้นเหล็กที่มีล้อทั่วไป คล้ายๆ ชั้นเหล็กไม่ใหญ่มากตามร้านทำผมสตรี หรือ ชั้นเหล็กที่ผมเคยเห็นในร้านอาหารที่มีถังน้ำแข็ง แล้วชอบมาวางข้างๆ โต๊ะ ครับ โดยนำเอามาใช้ด้วยการเอาชั้นเหล็ก 2-3 ชั้นออก ยกเว้นชั้นสุดท้าย
  2. ถังน้ำที่รองรับน้ำวางไว้ในชั้นวางเหล็ก ล่างสุด
  3. ผ้าขนหนู รองไหล่ของผมเพื่อป้องกันน้ำซึมไปบนเตียง
  4. แผ่นพลาสติกคล้ายๆ ผ้าปูโต๊ะ ที่มีขายทั่วไปครับ หรือจะซื้อมาเป็นเมตร ก็ได้ครับ โดยแผ่นพลาสติกนี้มีหน้าที่พาน้ำไปลงในถังรับน้ำครับ
  5. กะลามังใส่น้ำ ที่จะใช้ในการสระผม
  6. แก้วน้ำตักน้ำ ซึ่งรายการที่ 5-6 นี้ แล้วแต่เราจะมีในบ้าน สามารถประยุกต์ได้ตามถนัด หรือส่งที่มีนะครับ
ขั้นตอนการสระผม ของผมนะครับ

  1. ผมนอนหงายบนเตียง ดึงตัวออกไปนอกเตียงทางส่วนหัว ให้เหมาะสมกับความสามารถของตัวคนพิการเอง
  2. เข็นชั้นวางของที่มีถังน้ำมาอยู่ที่หัวเตียง
  3. ผมเอียงหัวไหล่ ซ้าย-ขวา ปูผ้าขนหนูไปก่อนชั้นแรก
  4. ตามด้วยแผ่นพลาสติก วางเหนือผ้าขนหนู
  5. เอาปลายอีกข้างของแผ่นพลาสติก ไปลงในถังน้ำให้หมด (เพื่อว่าเวลาล้างผมด้วยน้ำ น้ำจะไหลตามทางบนแผ่นพลาสติกลงไปในถัง)
  6. เอาสำลีอุดรูหู ป้องกันน้ำเข้าหูครับ
  7. เริ่มเทน้ำใส่ผม สระตามจังหวะที่จะเป็น โดยตัวคนพิการควรมีส่วนร่วมในการถูกสระด้วย ให้สอดคล้องกัน รู้จักยกศรีษะบ้างเพื่อให้กล้ามเนื้อคอและสะบักแข็งแรง เป็นการทำกายภาพบำบัดไปในตัว จนเสร็จ ตามเวลาที่เหมาะสม
  8. เอาผ้าพลาสติกออก 
  9. เอามือไปรองรับผ้าขนหนู และเช็ดผมให้แห้งด้วยตัวเอง
  10. ถูกดึงตัวลงไปในตำแหน่งที่เหมาะสม
  11. จบขั้นตอนการสระ เข้าสู่ขั้นตอนอื่นตามความเหมาะสม เช่น ผมมักสระผมก่อนออกนอกบ้านเสมอ ก็จะแต่งตัวต่อ หรือโกนหนวด ล้างหน้า เป็นต้นครับ
ลองดูภาพประกอบนะครับ


มองจากท้ายเตียงมาครับ

ลักษณะการยื่นศรีษะออกมา และการเทน้ำด้วยแก้วน้ำพลาสติกครับ

จะเห็นว่าใต้ไหล่มี 2 ชั้น คือ ชั้นล่างผ้าขนหนู ชั้นบนแผ่นพลาสติก

ผมเกร็งกล้ามเนื้อคอไว้ ให้คนสระ สะดวกเล็กน้อยครับ


ลักษณะชั้นเหล็กมีล้อที่เอาชั้นออก เหลือแค่ชั้นล่าง
และวางด้วยถังพลาสติก ครับ


ทั้งสองภาพข้างบน เป็นลักษณะการรวบแผ่นพลาสติกไปไว้ในถังครับ


ผมเอียงคอให้ราดน้ำสะดวกครับ

อีกตัวอย่างที่เอียงคอครับ แต่พอเริ่มไม่ไหว

ก็จะเริ่มยกแขนขึ้น เพื่อให้ถ่วงกล้ามเนื้อให้
ลดอาการเมื่อยล้าที่สะบักและกล้ามเนื้อคอครับ

กำลังเช็ดผมให้แห้ง และกำลังถูกดึงลงครับ

ถูกดึงลงในตำแหน่งที่เหมาะสมครับ

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เทคนิคการสระผมที่ได้ถูกพัฒนาจนตัวผมเอง และครอบครัวคิดว่าดีที่สุด สะดวกที่สุด ใช้งบประมาณน้อยที่สุด เก็บอุปกรณ์ได้อย่างง่ายๆ หาซื้อได้ทั่วไป เพื่อนๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมนะครับ

พิมพ์เมื่อ 13 มีนาคม 2555




No comments:

Post a Comment

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook