30 : ความเสี่ยงต่อโรคของผู้ทุพพลภาพ 2

คราวที่แล้วเกรงว่าจะยาวเกินไป จึงแบ่งเป็น 2 ตอน จึงขอกล่าวถึง " ความเสี่ยงต่อโรคของผู้ทุพพลภาพ ตอน 2 "

7. โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย เช่นลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวาร เป็นต้น

ในความคิด และการสังเกตุ ของผมนะครับ ผมคิดว่า ความเสี่ยงของโรคนี้มักจะเกิดจากการทานอาหาร ที่ทำให้ขับถ่ายยาก ประกอบกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีพฤติกรรมการขับถ่าย 2-3 วันจึงถ่าย ซึ่งในความคิดของผม ผมว่าไม่ถูกต้อง ทำให้มีผลเสียลต่อระบบขับถ่ายทั้งระบบ

เหตุผลสำคัญมากๆ ถ้าท่านผู้อ่านบังเอิญว่ากำลังดูแลผู้ทุพพลภาพคล้ายผมอยู่ ถ้าผมพูดแทงใจดำใครไปไม่โกรธกันนะครับ เรามาลองดูมุมมองต่างๆ ที่น่าจะเป็นไปได้กัน แทรกนิดนึงนะครับ ที่ผมต้องเน้นเรื่องนี้มากหน่อย ก็เพราะว่าผมให้ความสำคัญมาก

มุมของผู้ป่วย : เกรงใจมาก เกรงใจผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ที่จะมาดูแลเรื่อง "อุจจาระ" ให้

แม่ของเราเอง ท่านอุตส่าห์เลี้ยงดูเรามา จริงๆ เราต้องดูแลท่านซิ ไม่น่าเป็นอย่างนี้ มันไม่ถูก มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ (คิดไปไกลมากเลยครับ) สุดท้ายจบตรงที่ " ไม่รู้สึกเลย ไม่เป็นไร ไม่เห็นขนลุกเลย เอาไว้ถ่ายพรุ่งนี้ก็ได้ " หรือ หาข้ออ้างต่างๆ นานา บางทีก็แกล้งทำหงุดหงิด อารมณ์เสีย แล้วแกล้งพูดไปว่า " ไม่ถ่าย ไม่ถง ไม่ถ่ายมันแล้ว " แกล้งเป็นตัวร้ายไปเลย ทั้งหมดคือความเกรงใจ และผมถือว่าคิดมากครับ

น้องสาวแท้ๆ ของเราเอง ต้องเลิกกับแฟน เพราะแฟนรับไม่ได้ ที่น้องของเราบอกว่า ต้องดูแลเราตลอด ผู้ป่วยรู้สึกถึงความเสียสละของน้องสาว จึงเกิดความเกรงใจ ทำให้ชีวิตของน้องเราต้องผันแปร มีความทุกข์ เป็นต้น เมื่อถึงเรื่อง "อุจจาระ" จึงยิ่งกว่าเกรงใจเสียอีก ขนาดเราเป็นเจ้าของยังได้กลิ่นเหม็นเลย น้องเราต้องทนเพื่อเรา คิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็เข้า อิหรอบเดิม " ไม่เอา ไม่ถ่าย ไม่ว่าง จะทำงาน ดูหนังอยู่ " หรืออีกหลายเหตุผล หลายสิบแม่น้ำ จบตรงที่ 2-3 วัน จึงถ่ายเหมือนเดิม

คนอื่น เช่น ญาติที่ห่างมาหน่อย หรือพี่เลี้ยง ที่ทั้งหามาเอง หรืออาจจะมาจากศูนย์ ความคิดเริ่มคิดมากอีกแล้วครับ เขาจะคิดยังไงน้า เขาจะทำหน้าเบ้ไหม เวลาสวนลูกสวน เพื่อทำขับถ่ายให้เรา เขาจะเอามือปิดจมูกไหม อายเขามากเลย อายจังเลย ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ชาย แล้วคนดูแลเป็นผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า อย่างผมคงจะรู้สึกอายมาก เขิน เกรงใจ เรื่อง "อุจจาระ" อีกแล้ว เหมือนเดิมครับ จบที่คำพูด " ไม่เป็นไร เอาไว้พรุ่งนี้ดีกว่า ยังไม่สะดวก " 2-3 วันจึงถ่าย

เพียงเพราะเกรงใจ ไม่อยากให้ทำบ่อย 2-3 วันค่อยทำ อย่างน้อยก็ลดจำนวนครั้งที่ต้องมาดูแล เรื่องน่าเกลียดอย่างนี้ลงไปได้ ผมว่าผู้ป่วยก็น่าจะคิดได้ราวๆ นี้ เพราะต้องบอกให้ผู้อ่านทุกคนทราบเลยนะครับ ว่าผู้ป่วยคิดมากจริงๆ เกรงใจแทบทุกเรื่อง (ยกไว้สำหรับพวกนิสัยไม่ดีนะครับ) สิ่งนี้เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญของปัญหา

ผมอยากให้ผู้ป่วยคิดใหม่นะครับ อย่าคิดมาก ไม่มีใครอยากให้เรื่องอย่างนี้เกิด คุณแม่เรา น้องสาวเรา เต็มใจดูแลเรา ก็ให้ดูแลเต็มที่ เก็บความรัก ความเกรงใจ ไปเป็นพลังเพื่อพัฒนาตนเอง และพยายามให้ตัวเองลดภาระในส่วนอื่นแทน เพราะผมก็เป็นผู้ป่วยเช่นกัน ผมเกรงใจอย่างที่ผมยกตัวอย่าง แต่มันเลี่ยงไม่ได้ มันต้องเป้นไป เราสวนเองไม่ได้ เราเก็บอุจจาระเองไม่ได้ เราเช็ดก้น-ทำความสะอาดเองไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเป็นเรื่องขับถ่าย เรื่องอุจจาระ แต่เราสามารถมีช่วงเวลาที่อยู่คนเดียว พยายามทานข้าวเอง พยายามลดภาระในเรื่องอื่นแทน อย่างนี้แล้วถือว่า ผู้ป่วยได้ชดเชยความรู้สึกเกรงใจแล้ว อย่านำความรู้สึกนี้ไปบั่นทอนสุขภาพที่ก็แย่อยู่แล้ว ดังนั้นสรุปได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องนี้ อย่าเกรงใจครับ ต้องอดทนต่อความรู้สึก

ปลอบใจตัวเองให้ได้ ว่าถ้าเป็นคุณ ถ้าคุณต้องดูแลผู้ป่วยบ้าง ที่เป็นคนที่รัก คุณทำได้ไหม คุณไม่รังเกียจใช่ไหม คุณเต็มใจใช่ไหม เช่นกันครับ คนที่รักคุณก็คิดอย่างนั้นเช่นกัน ผู้ป่วยต้องตอบแทนความรู้สึกดีๆ ด้วยการมีกำลังใจ มีพลังในการดำรงชีวิต ทำงานครับ อ่านหนังสือครับ ความรู้สร้างปัญญา มองโลกในแง่ดี เราเป็นแบบนี้ อย่าอายคนอื่น เฝ้าบ้านเลยครับ อย่านอนอยู่เฉยๆ

ขอโทษครับ แค่ส่วนมุมของผู้ป่วยก็ยาวเลย จริงๆ ก็พูดถึงมุมของคนดูแลไปแล้วด้วย ขาดแค่คนดูแลที่เป็นคนอื่นไป แต่ก็ไม่มีอะไรมากครับ มันเป็นหน้าที่ของเขาครับ เพราะแลกเปลี่ยนกับรายได้ แต่ต่อๆ ไปก็จะกลายเป็นความผูกพัน ซึ่งก็ต้องอดทนกับความรู้สึกเกรงใจเช่นกัน

ดังนั้นแล้ว ถ้าผ่านความรู้สึกนี้ไปได้ ก็ตั้งเป้าได้เลยครับ ต้องถ่ายทุกวัน จึงส่งผลไปยังการทานอาหารอย่างมีการวางแผน ศึกษาวิธีส่วนตัวของผมได้ที่ตอน MOM vs ยาคูลย์ กับการขับถ่าย

ขอโทษนะครับ ยาวเลย ถ้าอย่างนั้น ขอกล่าวถึงข้ออื่นในตอน 3 ครับ


ขอบคุณครับ

ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 089-6910225
Tel. & Fax.: 02-9232724
email : preeda.limnontakul@gmail.com
email : preeda@gpaymentservice.com
website : http://www.gpaymentservice.com/
blog 1 : http://preedastation.blogspot.com/
blog 2 : http://aglocostationthai.blogspot.com/
blog 3 : http://webblogguidestation.blogspot.com/
blog 4 : http://everythinginnonthaburi.blogspot.com/
update : May 4, 2007

2 comments:

  1. feng_shui วันที่ : 04/08/2007 เวลา : 16.28 น.
    http://www.oknation.net/blog/buzz
    feng_shui



    สวัสดียามบ่ายค่ะ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย สำหรับผู้ป่วยฯ นี่ น่าเห็นใจนะคะ แต่ดิฉันว่าคนธรรมดาก็มีปัญหาพวกนี้ได้ค่ะ หากเราระวังเรื่องอาหาร การกิน
    ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete
  2. zuni วันที่ : 07/08/2007 เวลา : 11.48 น.
    http://www.oknation.net/blog/zuni



    เคยอ่านเจอผู้ป่วยที่กระดูคอแตกและทุพพลภาพจากการกระโดดสระว่ายน้ำ เค้าฝึกสติ จนรู้เวลาจะปัสสาวะ อุจจาระ เพราะร่างกายจะรู้สึกเหมือนขนลุกแต่ไม่เหมือนกัน ทำให้คุมการขับถ่ายได้อย่าเงเหลือเชื่อ คือพอมีอาการก็จะไปนั่งส้วมแล้วถ่ายทุกครั้ง แล้วยังออกไปนอกบ้านโดยใช้รถนั่งแบบรถบังคับ มีผู้ช่วยประกบ 1 คนค่ะ
    คิดว่าคุณปรีดาคงฝึกได้และมีวิธีพร้อมอุปกรณ์ช่วยนะคะ เอาใจช่วยค่ะ

    ReplyDelete

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook