27 : นักกายภาพบำบัดคนปัจจุบัน

สวัสดีครับ ตอนนี้ขอพูดถึงนักกายภาพบำบัด (Physiotherapist) และการทำกายภาพบำบัด (Physiotherapy) อีกครั้ง และคงจะกล่าวถึงอีกหลายๆ ครั้งแน่นอน เพราะเป็นอีกเรื่องที่ต้องอยู่ร่วงมกันอย่างแยกไม่ได้ครับ

ที่ตั้งชื่อตอนว่า " นักกายภาพบำบัดคนปัจจุบัน " ก็เพราะว่า หลังจากที่ได้เป็นผู้ทุพพลภาพ ก็ได้รู้จักกับนักกายภาพหลายคน จนกระทั่งกลับมาบ้าน นักกายภาพบำบัดที่ดูแลที่โรงพยาบาล ก็แนะนำรุ่นน้องที่จบจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ดูแลเรื่องนี้ให้ผมมา 5 ปีแล้วครับ โดยมีเพื่อนของเธอมาดูแลแทนชั่วคราว ครั้งที่ไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น ผมขอตั้งชื่อเธอว่า เอ (นามสมมุติ)

แต่อย่างไรก็ดี ขอกล่าวถึงนักกายภาพบำบัดชาย ที่มาดูแลที่บ้านช่วงแรก เพราะเมื่อได้มีโอกาสไปค้นข้อมูล จากเว็บไซต์ที่เอ แนะนำ ( http://www.physiotherapyexercises.com/web2/lang/PTX.php?simple=true ) จึงทำให้นึกถึง ท่า Exercise บางท่าจึงนำมาฝากให้ชมกันครับ

เท่าที่ผมทราบ นักกายภาพบำบัดชายจะมีไม่มาก ในแต่ละรุ่น อาจจะมีแค่ 4-6 คนเท่านั้น และเมื่อเรียนจบก็มักถูกดึงตัวไปอยู่ที่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นข้อมูลจากนักกายภาพหลายๆ คนที่จบจากมหิดล

ในด้านของการทำ ท่ากายภาพบำบัด (Exercise) นักกายภาพบำบัดชาย และหญิง จะมีความแตกต่างในบางท่า เพราะเท่าที่สัมผัสได้ กับวิชาชีพนี้ ผมเห็นใจมาก เป็นอาชีพที่ล่อแหลมต่อความรู้สึก เพราะต้องมีการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ในขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะอ่อนแอทางจิตใจ ก็มักจะคิดไปเองว่าได้รับความสนใจจากนักกายภาพบำบัด โดยไม่ได้คิดถึงว่านั่นคือ วิชาชีพ

ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งก็เกิดจาก ท่าทาง ที่ต้องร่วมกันทำทั้งแบบ passive และ active ต่างๆ รวมถึงความใกล้ชิด น่าเห็นใจครับ ในบ่งครั้งผมยังต้องเตือนเสียด้วยซ้ำว่า โป๊แล้ว หรือบางทีก็ช่วย design ท่า หรือบางครั้งก็หาอุปกรณ์เสริมมาทดแทน โดยร่วมกันปรึกษา หรือบางครั้งก็ต้องเอ่ยปากก่อนถึง ท่าอื่นที่ชดเชยกันได้ เพราะนักกายภาพบำบัดเอง ก็เกรงใจเรา จะพูดก่อน ก็กลัวว่าคนไข้จะคิดมาก หาว่ารังเกียจ หรือบางท่าก็เกิด effect กับร่างกายของนักกายภาพบำบัด ก็ไม่กล้าจะปฏิเสธ ทนฝืนทำจนสังเกตุเห็นได้เอง ถือว่าเป็นอีกอาชีพที่บั่นทอนร่างกายพอสมควร

ผมยกตัวอย่างบางท่า ที่นักกายภาพบำบัดชายทำได้ เพราะมีแรง และล่อแหลมมาก ถ้าทำกับผู้ป่วยหญิง คือท่าที่ประสานฝ่ามือกัน และโน้มตัวออกแรงกดลง ในขณะที่ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียง ผู้ป่วยต้องพยายามยืดข้อศอกให้ตรง นักกายภาพบำบัดจะออกแรงต้าน และผ่อนแรงให้สัมพันธ์กับผู้ป่วย

มีนักกายภาพบำบัดหญิงคนหนึ่งทำท่านี้ให้ผม ผมถึงกับต้องขอเปลี่ยนท่าเพราะเกรงใจเธอมาก แต่เธอก็บอกว่า เป็นท่าที่ต้องทำ ผมจึงขอทำเป็นท่าคล้ายวิดพื้นแทน ปัจจุบันท่าวิดพื้น ซึ่งขึ้นแต่ท่อนบน จึงเป็นหนึ่งในท่าที่ต้องทำ เมื่อเอ มาดูแล


ภาพนี้เป็นท่า exercise ที่นักกายภาพบำบัดชายให้ทำ ในขณะที่เขาไม่ได้มาดูแล

คือใช้ยางยืดผูกกับเตียง และข้อมือทางซ้าย หรือขวาก็ได้ และพยายามดึงยางยืด เพื่อนำข้อมือไปวางไว้บริเวณสีข้างอีกข้างหนึ่ง







นี่เป็นอีกท่าหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน คือเราต้องดึงข้อมือที่วางอยู่แนบตัวด้านซ้าย มาแตะหัวไหล่ขวา ต้องใช้คำว่าพยายาม เพราะช่วงแรกๆ ทำไม่ได้ ปัจจุบันท่าเหล่านี้ไม่ได้ทำแล้ว เพราะกล้ามเนื้อแขนด้านในแข็งแรง ข้อศอกดี ข้อมือดี มีแรง



ผมมีเคล็ดลับง่ายๆ คือพยายามที่จะดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติ ก็จะทำให้ผมได้ exercise ไปในตัว ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนอื่นต่อๆ ไปครับ

กลับมาที่นักกายภาพบำบัดคนปัจจุบันนะครับ เป็นผู้หญิงครับ ท่าทางแข็งแรง อยู่ใกล้บ้านผม จึงสะดวกกันทั้ง 2 ฝ่าย ยิ่งตอนนี้เธอมีรถส่วนตัวก็สะดวกหน่อย แต่เร็วๆ นี้ก็จะต้องไปเรียนปริญญาโท ช่วงนี้จึงต้องเคลียร์งาน จึงมาได้แค่ 2 วันต่อสัปดาห์

ตอนนี้ผมคงพอแค่นี้ก่อน จะได้ไม่เกินหัวข้อครับ

ขอบคุณครับ

ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 086-314-7866
Tel. & Fax.: 02-924-2726
email : preeda.limnontakul@gmail.com
update : May 1, 2007

9 comments:

  1. โบนัส
    เมื่อ พ. 11 ก.ค. 2550 @ 01:28 [317019] [ลบ]
    ฝากอีกอย่างคะเพื่อเป็นกำลังใจวิชาชีพกายภาพบำบัด ส่วนมากในประเทศไทยคนส่วนใหญ่จะนึกถึงแพทย์มาก่อน เพราะส่วนมากต้องการประหยัดเวลาในการรักษา และน้อยคนนักที่จะทราบว่าจริงๆแล้วนักกายภาพเป็นวิชาชีพที่ใกล้ชิดคนไข้มาก เนื่องจากเป็นการฟื้นฟูและรักษาต้องใช้เวลา ต้องใส่ใจกับคนไข้และต้องติดตามผล ต้องมีความอดทนสูงและต้องใช้จิตวิทยามากในการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยบางรายต้องใช้เวลานานในการรักษาและฟื้นฟู ทำให้บางครั้งอาจท้อแท้ใจ(ดิฉันเจอบ่อยมาก)เราต้องทำทุกอย่างให้เค้าเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เพราะถ้าผู้ป่วยไม่สู้นักกายภาพบำบัดต่อให้พยายามตั้งใจมากแค่ไหนก็ไม่เกิดผลเท่าที่ควร คล้ายกับการออกกำลังกายผู้ป่วยต้องออกกำลังกายร่วมมือช่วยกันในการรักษากับนักกายภาพบำบัดจึงจะเกิดประสิทธิผลมากขึ้น

    สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

    "ความคิดและจินตนาการสามารถทำได้มากกว่าที่ร่างกายเราจะทำ"

    ReplyDelete
  2. PT.RONK
    เมื่อ พ. 25 ก.ค. 2550 @ 01:32 [329633] [ลบ]
    ผมไม่ทราบว่าอาการพี่ดีขึ้นถึงขั้นไหนแล้ว แต่ก็ขอให้สู้ต่อไปกับโลกใบเล็กใบนี้ อย่าลืมขยันทำกายภาพบำบัด ด้วยนะครับ..............สู้ต่อไป ทาเคชิ.........ด้วยใจจริง

    ReplyDelete
  3. เรือรบเมืองมั่น วันที่ : 30/07/2007 เวลา : 23.51 น.
    http://www.oknation.net/blog/ruarob



    เคยนึกว่าอาการนี้เกิดกับผู้หญิงอย่างเดียวครับ

    ReplyDelete
  4. ดอกไม้ในแจกัน วันที่ : 31/07/2007 เวลา : 12.47 น.

    น่ารักมากนะที่เล่ารายละเอียด เป็นกำลังจ๊ะ

    ReplyDelete
  5. หุหุ ขอบคุณกับข้อมูลมีประโยชน์นะครับ จะนำไป ใช้กับญาติ & &

    ReplyDelete
  6. 555 เห็นด้วยค่ะ นักกายภาพบำบัดหน้าตาดีซะด้วย ช่วงเวลาที่ทำกายภาพอยู่กัน2คน สัมผัส ใกล้ชิด จิตใจคิดไปไกลเลย 555

    ReplyDelete
    Replies
    1. นั่นหล่ะครับ คนไข้หรือคนพิการ จึงต้องมีความยับยั้งชั่งใจ และระลึกเสมอว่า เป็นวิชาชีพ และต้องเคารพที่นักกายภาพบำบัด ยังมีจิตเมตตามาทำกายภาพบำบัดให้ครับ

      Delete
  7. ฟองอากาศสีฟ้าMay 8, 2014 at 7:43 PM

    เป็นกำลังใจให้ค่ะ :D พอดีสนใจเรียนกายภาพบำบัด เลยลองมาหาข้อมูลดูค่ะ ขอบคุณนะคะ พี่จิตใจเข้มแข็งมากค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ดีนะครับ ประเทศไทยน่าจะยังขาดนักกายภาพบำบัด มืออาชีพ อีกมากครับ ปัจจุบันที่ผมเป็น นักกายภาพบำบัดมีส่วนสำคัญ และเป็นคนสำคัญ สำหรับผมมากครับ

      Delete

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook