84 : บทความสัมภาษณ์อาจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เรื่อง "กฏหมายและสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการจ้างงานคนพิการ"

ช่วงนี้ผมมีภารกิจด้านการสร้างอาชีพ ในลักษณะที่ต้องประสานงานร่วมกับสถานประกอบการหลายแห่ง และกำลังจะมีโครงการสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเชื่อมโ็ยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการรับรู้ข้อมูล รวมถึงสร้างโอกาสงานให้กับคนพิการ จึงอยากนำบทความ "กฏหมายและประโยชน์ทางภาษีในการจ้างงานคนพิการ" มาฝากทั้งสองฝ่าย คือ คนพิการ และสถานประกอบการ ควบคู่กันไป

2 วันที่ผ่านมา มีนักข่าวสัมภาษณ์ถึงความต้องการแรงงานคนพิการในตลาดมีสูงไหม ผมรีบตอบเลยว่า "มีสูง" แต่ไม่มีคนพิการเข้าไปในระบบงาน หรือมีน้อย อย่างไรก็ดี เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพียงแต่สังคมต้องหา "จุดสมดุล" ระหว่างคนพิการ กับสถานประกอบการ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้เจอ ผมก็พยายามอยู่ครับ

งั้นเรามาอ่านบทความของอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ร่วมกันครับ

..............................................................

กฎหมายและประโยชน์ทางภาษีในการจ้างงานคนพิการ

สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น

สำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานคนพิการ

*โดย ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

1. ค่าจ้างคนพิการเข้าทำงาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงาน มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว ตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553

แต่เดิม ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างคนพิการ นายจ้างสามารถนำค่าจ้างนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงเท่านั้น เช่น ค่าจ้างคนพิการปีละ 120,000 บาท ก็นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ 120,000 บาท ไม่ต่างจากลูกจ้างทั่วไปแต่อย่างใด

เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างจ้างแรงงานคนพิการ มาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553 กำหนดว่า ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงานสำหรับเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว

นั่นหมายความว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ถึง 2 เท่าของที่จ่ายเป็นค่าจ้างคนพิการ ในกรณีนี้ค่าจ้างที่จ่ายจริงคือ 120,000 บาท สามารถถือเป็นรายจ่ายได้ถึง 240,000บาท ทั้ง ๆ ที่จ่ายค่าจ้างคนพิการเพียง 120,000 บาทเท่านั้น

ผลที่ตามมาเท่ากับรัฐบาล ได้ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานคนพิการในรูปของประโยชน์ทางภาษี นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเสียภาษีอัตราเท่าใด ก็ได้รับประโยชน์เท่ากับร้อยละของอัตราภาษีนั้น โดยทั่วไปห้างหุ้นส่วนบริษัทเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ย่อมหมายความว่ารัฐบาลได้ช่วยออกค่าจ้างในรูปภาษีร้อยละ 30 คิดเป็นจำนวนเงิน 120,000 * 30/100 = 36,000 บาท แสดงว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ่ายจริงเพียง 84,000 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการจ้างคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น

2. รายจ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการแก่ลูกจ้างที่เป็นคนพิการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการดังกล่าวแก่ลูกจ้างที่เป็นคนพิการ

โดยทั่วไป รายจ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการในการจ้างงาน เช่น อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะ นายจ้างสามารถนำค่าจ้างนั้นมาหักเป็นค่าเสื่อมราคาหรือค่าใช้จ่ายได้แล้วแต่กรณี ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบเสียค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างเป็นเงิน 100,000 บาท ย่อมสามารถหากหักเป็นเสื่อมราคาหรือถือเป็นรายจ่ายได้ 100,000 บาทอยู่แล้วตามปกติ

แต่เพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานพิการ มาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553 กำหนดว่า ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(มาตรา 37) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการดังกล่าว

นั่นหมายความว่ารัฐบาลได้ช่วยออกค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้างพิการในรูปของประโยชน์ทางภาษี นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเสียภาษีอัตราเท่าใด ก็ได้รับประโยชน์เท่ากับร้อยละของอัตราภาษีนั้น

โดยทั่วไปห้างหุ้นส่วนบริษัทเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ย่อมหมายความว่ารัฐบาลได้ช่วยออกค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับลูกจ้างพิการในรูปภาษีร้อยละ 30 หาก ซึ่งนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ได้เสียค่าใช้จ่ายสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างพิการหรือจัดให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท รัฐบาลก็ช่วยออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย เป็นเงินจำนวน 100,000 × 30/100 = 30,000 บาท แสดงว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ่ายจริงเพียง 70,000 บาทเท่านั้น

ค่าสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 1 แสนบาท

รัฐบาลช่วยจ่าย = 100,000 × 30/100

= 30,000 บาท

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะได้รับก็ต่อเมื่อมีลูกจ้างที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเข้าทำงานเท่านั้น

3. มีลูกจ้างพิการมากกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมด

มาตรา 38 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า นายจ้าง หรือ เจ้าของสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด

ในกรณีนี้กรมสรรพากรต้องการให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้แก่กิจการซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงได้เสนอให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานคนพิการเกินกว่าร้อยละ 60 มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนเพิ่มเติมอีกร้อยละหนึ่งร้อย ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คงจะออกเป็นกฎหมายโดยเร็ววัน

นั่นหมายความว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานคนพิการเกินกว่าร้อยละ 60 มีสิทธินำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายได้ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง กรณีที่จ้างคนพิการ 100,000 บาท/ คน/ ปี ก็มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 300,000 บาท/ คน/ ปี หากได้จ้างคนพิการเป็นจำนวนมากย่อมน่าเชื่อได้ว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นจะไม่มีกำไรทางภาษีที่ต้องไปเสียภาษีแต่อย่างใด

4. สิทธิประโยชน์อื่น

มาตรา 39 วรรค 2 ของพ.ร.บ.พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า ในกรณีที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐจะพิจารณาให้สัมปทาน การส่งเสริมการลงทุน การประกาศเกียรติคุณ สินเชื่อ รางวัล เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด แก่นายจ้าง หรือสถานประกอบการใด ให้นำข้อมูลที่ได้ประกาศตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการได้รับจากการจ้างลูกจ้างพิการแล้วนั้น ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการอาจได้รับตามาตรา 39 วรรค 2 ดังที่กล่าวข้างต้น ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พ.ก.) ได้คัดเลือกนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานคนพิการไว้เกินกว่าระบบสัดส่วนการจ้างงานกำหนด ให้ได้รับใบประกาศเกียรติคุณในวันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบประกาศเกียรติคุณดังกล่าว

ปัจจุบันนี้ พ.ก.อยู่ในระหว่างดำเนินการขอพระราชทานรางวัล ยิ้มสู้[1] ให้แก่องค์กรเอกชนที่เชิดชูคุณค่าแห่งความเท่าเทียมกันของคนพิการ ซึ่งรวมถึงองค์กรเอกชนที่ได้จ้างงานคนพิการเป็นจำนวนมาก และจัดสวัสดิการให้แก่คนพิการได้อยู่อย่างบุคคลทั่วไปด้วย

กล่องข้อความ: ภาษี  =  (  เงินได้  -  ค่าใช้จ่าย  )  x  (อัตราภาษี  /  100)



ตัวอย่าง บริษัทใจดีมีรายได้จากการขายสินค้าเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท มีลูกจ้าง1,000 คน ค่าแรงถัวเฉลี่ย 1 แสนบาท /คน / ปี มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมกันเป็นเงิน 90 ล้านบาท บริษัทใจดีเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 อยากทราบว่าบริษัทฯต้องจ้างแรงงานคนพิการกี่คน ถ้าไม่จ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นจำนวนเงินเท่าใด หากจ้างแรงงานคนพิการ บริษัทใจดีจะได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีเท่าใด

จากตัวอย่างข้างต้น Ø

บริษัทฯมีเงินได้ 200 ล้านบาท - ค่าแรง 100 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 90 ล้านบาท = มีกำไร 10 ล้านบาท

เสียภาษี = 10 ล. *30/100 = 3 ล้านบาท


1. กรณีที่ 1 หากบริษัทใจดีไม่จ้างงานคนพิการ

หากยึดตามมติคณะรัฐมนตรี นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องจ้างคนพิการในสัดส่วนลูกจ้างทั่วไป 100 คนต่อลูกจ้างคนพิการ 1 คน ถ้าไม่จ้างต้องจ่ายเงินสมบทเข้ากองทุนจำนวนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำสุดของประเทศคูณด้วย 365 วัน คูณด้วยจำนวนคนพิการที่ต้องจ้างบริษัทใจดีต้องจ้างแรงงานคนพิการ = 1,000/100 = 10 คน

หากบริษัทฯไม่จ้างคนพิการเข้าทำงาน ก็มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นจำนวนเงินเท่ากับ ค่าแรงขั้นต่ำที่สุดของประเทศ 159 บาท คูณ 365 วัน คูณ 10 คน = 580,350 บาท

นั่นหมายความว่าบริษัทใจดีจะต้องเสียภาษี 3 ล้านบาทและต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน 580,350 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 3,580,350 บาท

* หมายเหตุ ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการร่างกฎหมาย กำหนดให้เงินที่จ่ายเข้ากองทุนได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีได้

2. กรณีที่ 2 หากบริษัทใจดีจ้างคนพิการ

ถ้าบริษัทฯ จ้างคนพิการเข้าทำงาน 10 คน แทนการจ้างคนทั่วไป บริษัทใจดียังมีคนงาน 1,000 คน แทนที่จะถือเป็นรายจ่าย 100 ล้านบาท ก็สามารถถือเป็นรายจ่ายได้ถึง 101 ล้านบาท (คนพิการ 10 คน ถือเป็นรายจ่ายเพิ่มได้อีกคนละ 1 แสนบาท)

ในทางภาษีทำให้บริษัทใจดีมีกำไร = 200 ล้านบาท 101 ล้านบาท 90 ล้านบาท = 9 ล้านบาท

คิดเป็นภาษีทีต้องเสียเท่ากับ 9 ล้านบาท * 30/100 = 2,700,000 บาท


3. เปรียบเทียบทั้งกรณี

เมื่อเปรียบเทียบกรณีที่บริษัทใจดีไม่จ้างคนพิการเข้าทำงาน ต้องเสียภาษีเต็มจำนวนและต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนถึง 580,350 บาท แต่ถ้าจ้างพิการเข้าทำงานจะทำให้เสียภาษีน้อยลงประมาณ 3 แสนบาทและไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน เท่ากับบริษัทใจดีประหยัดเงินทั้งหมด 880,350 บาท

4. กรณีที่ 3 กรณีที่บริษัทใจดีไม่ต้องเสียภาษีเลย

หากบริษัทใจดีจ้างคนพิการเข้าทำงานแทนคนทั่วไปเพียงแค่ 100 คน ไม่ต้องถึงร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมด บริษัทใจดีก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากการที่บริษัทสามารถนำเงินเดือนคนพิการมาเป็นรายจ่ายสองเท่า ทำให้บริษัทไม่มีกำไรทางภาษีมาคำนวนภาษี

หมายเหตุ หากบริษัทใจดีไม่ประสงค์จะจ่ายเงินเข้ากองทุนก็ต้องหาทางสร้างงานให้แก่คนพิการแทนการจ้างงานก็ได้ ตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อาทิ การให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลื่ออื่นใดแก่คนพิการแทนหรือผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้

นอกจากนั้น ผู้ดูแลคนพิการซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อในบัตรประจำตัวคนพิการยังสามารถลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ดูแลคนพิการคนละหกหมื่นบาท หากคนพิการนั้นเป็นผู้สูงอายุก็สามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นได้อีกสามหมื่นบาท

ปัจจุบันได้ออกอนุบัญญัติตามประมวลรัษฎากรเพิ่มเติมและได้รับการตรวจพิจารณาร่างจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ดังนี้

๑. ร่างกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการและมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทในปีภาษีนั้น ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นอัตราเดียวกันกับภาษีผู้สูงอายุซึ่งมีอายุหกสิบห้าปีขึ้นไปจะได้ไม่ซ้ำซ้อนกัน

๒. ร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่จัดให้คนพิการได้รับสิทธิตามมาตรา ๒๐ (การแพทย์ การศึกษา การมีงานทำ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี สวัสดิการสังคม กิจกรรม โครงการ บริการ ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต การอำนวยความสะดวกต่างๆ ) เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายแต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนดังกล่าว โดยรวมในส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างทั้งหมดและมีระยะเวลาจ้างเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยยกเว้นเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว( ๓ เท่าของค่าจ้าง) รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีมติเสนอกระทรวงการคลังให้การลดหย่อนภาษีในกรณีนายจ้างเลือกใช้วิธีการส่งเงินเข้ากองทุนเช่นเดียวกับการบริจาคเข้ากองทุนโดยสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เต็มจำนวน


[1]ยิ้มสู้ นำมาจากเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้แก่คนตาบอด เมื่อพ.ศ.2495 เพื่อเป็นกำลังใจแก่คนตาบอดในการต่อสู้ชีวิตจนสามารถอยู่ได้อย่างเท่าเทียม ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป ซึ่งบุคคลทั่วไปก็สามารถนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน

.............................................................

ผมหวังว่า เมื่อเพื่อนๆ คนพิการ และญาติๆ ของคนพิการได้ทราบถึงกฏหมาย และสิทธิ์ ที่คนพิการพึงได้รับ และรู้จักที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์กับการสร้างโอกาสในการทำงานให้กับตัวคนพิการเอง สำหรับสถานประกอบการก็จะได้ทราบสิทธิประโยชน์ที่รับคนพิการเข้าทำงานอย่างแท้จริง

สิงที่อยากฝากคือ ถ้าคนพิการได้เข้าทำงานแล้ว ขอให้ตั้งใจ มุ่งมั่น อดทน ใฝ่รู้ ไม่ละความพยายาม และพยายามทำงานให้มีคุณภาพ เพื่อร่วมกันช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคนพิการ ให้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน ส่วนสถานประกอบการ ผมอยากให้ศึกษา และเข้าใจความพิการของคนพิการด้วย เพราะถ้าเข้าใจแล้วก็จะมองออกว่า ลักษณะงานใดเหมาะกับคนพิการนั้นๆ ซึ่งก็จะทำให้คนพิการทำงานได้นาน ที่เหลืออยู่ที่ความมุ่งมั่นของคนพิการแล้ว อย่าได้ให้คนพิการรู้สึกว่า ที่ทำงานตำแหน่งนั้นไม่ได้เหมือนเจ้านายไม่เข้าใจความพิการ

เช่นคนพิการไขสันหลัง ต้องมีลักษณะการนั่งที่ผ่อนคลาย ให้บริเวณกว้างหน่อย ให้ได้เหยียดขาได้ เพราะถ้านั่งท่านั่งนานๆ จะเกร็ง แล้วไปกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมากมาย หรือถ้าเอาคนโปลิโอ มายืนถ่ายเอกสารก็คงไม่ทน เป็นต้นครับ

คนพิการมีแต้มต่อแล้วนะครับ มีกฏหมายเป็นตัวช่วย มีความเห็นอกเห็นใจเป็นตัวหนุน ที่เหลืออยู่ที่ตัวคนพิการเองแล้วนะครับ แสดงความสามารถออกมานะครับ

No comments:

Post a Comment

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook