น้ำหนักตัว กับแผลกดทับ

เริ่มจากข้อมูลเรื่องน้ำหนักก่อนครับ ผมสูง 175 เซนติเมตร หนักเพียง 54 กิโลกรัม จัดว่าเป็นคนผอม ผมควรจะหนักประมาณ 65 กิโลกรัม (จากสูตร ความสูง-110 = 175-110 = 65 กิโลกรัม)

หลังได้รับการผ่าตัด ผมเจ็บคอมาก จึงทานได้อาหารได้น้อย (รับน้ำเกลือเป็นหลัก) จนน้ำหนักเหลือเพียง 44 กิโลกรัมเมื่อมาถึงพญาไท 1 สงสัยจะรวมความเครียดเข้าไปด้วยทั้งแผลกดทับ และเรื่องติดเชื้อ

ผมทานอาหารได้มากขึ้นเมื่อมาที่พญาไท 1 เพิ่มมาอยู่ที่ 50 กิโลกรัมจนออกจากโรงพยาบาล ปัจจุบันผมมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ผ่านมา 5 ปี 5 เดือนพอดี

มุมมองของผมเกี่ยวกับ " น้ำหนักตัว " จะมีผล หรือส่งผล หรือสัมพันธ์กับ " แผลกดทับ " โดยตรง ผมจะลำดับความคิด และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักดังนี้ครับ

1. ตอนที่ผมมีน้ำหนักน้อย คือ 44 กิโลกรัม ทำให้ผมผอมและเกิดปุ่มกระดูก หมายถึงจับตรงไหนก็เจอแต่กระดูก โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกกดทับ ถ้าเรานอนมากๆ โอกาสที่จะเกิดแผลกดทับบริเวณที่มีเนื้อบางแล้วถึงกระดูกเลย ก็จะมีสูงกว่า ถ้ามีความหนาของเนื้อมาก ก็จะดีกว่า

2. เมื่อผมมาถึงพญาไท 1 ทีมพยาบาลแนะนำทันทีเรื่องเตียงลม ถ้าใช้เตียงลมก็จะลดโอกาส การเป็นแผลกดทับได้มาก ข้อนี้ผมยืนยันได้ 1,000% เพราะปัจจุบันนี้ ผมกับเตียงลมเป็นเพื่อนซี้กันมาก แยกจากกันไม่ได้ ถ้าไม่มีเตียงลมผมคงแย่

ดังนั้นเตียงลมจะทำให้การนอนนานๆ ของเราเกิดการเฉลี่ยจุดรับน้ำหนักของตัวเราเองได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะมันจะทำงาน 4 step คือ

step 1. เนื่องจากเตียงลมจะมีลักษณะเป็นลูกฟูกตามแนวขวางของร่างกายประมาณ 25-30 ลูก เรียงตามลำดับเลขคู่ เลขคี่ คือหมายถึงสลับกันเป็น 2 ชุด แต่ละชุดถูกเชื่อมด้วยท่อลม จึงมี 2 ท่อ และท่อลมต่อเข้ากับปั๊มลม ซึ่งมีส่วนควบคุมการทำงานอยู่ โดย step แรกจะปั๊มลมเข้าท่อลมชุดแรก ทำให้ลูกฟูกพลาสติกโป่งขึ้น ส่วนอีกชุดของลูกฟูกก็จะแฟบ

step 2. เมื่อผ่านไป 5 นาที ปั๊มลมจะทำงานให้ชุดลูกฟูกอีกชุดโป่งขึ้น ในขณะที่จะระบายลมออกจากลูกฟูกชุดเดิม ทำให้เกิดการทำงานสลับกัน อย่างนี้แล้วก็ทำให้เป็นการสลับตำแหน่งจุดรับน้ำหนักของร่างกาย

step 3. เมื่อผ่านไปอีก 5 นาที ปั๊มลมก็จะทำงานปล่อยลมเข้าท่อลมอีกชุดที่แฟบ ในขณะที่ไม่ระบายลมออกจากท่อลมชุดลูกฟูกที่ยังโป่ง หรือเต่งอยู่ ทำให้ลูกฟูกเต่งทุกลูก ก็ถือว่าเป็นการเฉลี่ยน้ำหนักบนจุดรับน้ำหนักเข้าไปอีก

step 4. เมื่อผ่านไปอีก 5 นาที เครื่องจะระบายลมออกจากท่อลมทั้ง 2 ท่อ ลูกฟูกจึงแฟบทั้งหมด เป็นเช่นนี้สลับกันไปตลอด

พอพูดถึงเตียงลม ขอกล่าวถึงความรู้สึกดีๆ ที่พญาไท 1 ควบคู่กับข้อแนะนำนะครับ คือว่า ค่าบริการเตียงลมต่อวัน ณ ขณะนั้นผมจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่อยู่ในเกณฑ์ 300-400 บาท/วัน แน่นอน ดังนั้นถ้าต้องใช้ทุกวัน 1 เดือนก็ต้องเสียค่าบริการ 9,000-12,000 บาทแน่ๆ ผมแนะนำให้ซื้อใหม่เลย เพราะอย่างไรก็ต้องนำไปใช้ต่อที่บ้านอยู่ดี และทางโรงพยาบาลก็ยินยอมให้ทางเราซื้อมาใช้ โดยไมต้องเช่ากับทางโรงพยาบาล ผมถือว่าตรงนี้โรงพยาบาลไม่เอาเปรียบผู้ป่วยที่ก็มีความทุกข์อยู่แล้ว คือเห็นใจกัน

3. เมื่อน้ำหนักค่อยๆ เพิ่มขึ้น ผมก็มีความคิดว่าจะไม่ให้น้ำหนักเพิ่มมากไปกว่านี้เนื่องจากผมกังวลใจว่าผมจะใช้ข้อมือยันตัวไม่ลอยลจากพื้น คือหมายถึงไม่ให้หนักไปกว่านี้ เพราะอาจทำให้กดติดเตียงและมีโอกาสเกิดแผลกดทับ และถ้าหนักมากผมก็จะเคลื่อนตัวลำบาก

4. แต่สุดท้ายเมื่อผมมีน้ำหนักถึง 60 กิโลกรัม ผมก็ปรับความคิดนิดหน่อย เพราะว่าตอนที่ผมมีน้ำหนักไม่ถึง 60 kgs. ถ้าผมนั่งนานก้นจะแดง แต่เมื่อถึง 60 kgs. ก้นกลับไม่แดง ขนาดนั่งทั้งวันก็ไม่เป็นอะไร

ดังนั้นแล้ว ผมอยากให้ผู้อ่านที่เป็นแบบผม ลองหาน้ำหนักที่เหมาะสมให้กับตัวเอง คือไม่ผอมเกินไปจนเกิดปุ่มกระดูก ไม่อ้วนเกินไปจนเป็นภาระในการขยับตัว ยกตัว หรือจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตัวไปนอกสถานที่ เพราะเราต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนที่มาดูแลเราด้วย

เพราะคุณรู้ไหม นางพยาบาลและผู้ช่วยแทบทุกคนมีปัญหาเกี่ยวร่างกายทั้งนั้น จากผลกระทบเรื่องน้ำหนักของผู้ป่วยแล้วจำเป็นต้องช่วยกันเคลื่อนย้าย หลังยอกกันบ่อยๆ เป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนกันก็เยอะ สงสารพวกเขา รวมถึงพี่เลี้ยง หรือคนที่จะมาดูแลคุณที่บ้านด้วย

เรื่องเกี่ยวกับน้ำหนักตัวคงจะพอแค่นี้ ถ้ามีตอนไหนที่เกี่ยวข้องก็จะรีบแทรกเนื้อหาทันที เพราะว่าตอนนี้เท่ากับผมให้ข้อมูลจนถึงปัจจุบันไปแล้ว

งั้นผมของเพิ่มเติมข้อมูลของคุณหมอ consult อีก 2 ท่านครับ คือ

พอวันที่ 2 คุณหมอ อนันตศักดิ์ ก็เข้ามาเยี่ยม ดูสีหน้าหนักใจ เนื่องจากผมติดเชื้อในเกณฑ์ขั้นรุนแรง ทั้งที่แผลกดทับที่ก็มีขนาดถึง 7 เซนติเมตรได้ กินลึกถึงกระดูก เห็นเส้นเอ็นด้วย ส่วนกระเพาะปัสสาวะก็ทราบผลจากการเพาะเชื้อ ว่ามีหลายตัว เบ็ดเสร็จ 4 เชื้อ

อาการไข้ของผมสูงถึง 39-39.5 องศาเซลเซียสตลอด ร้อนๆ หนาวๆ ตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุด ที่ รพ. ที่ 2 ใช้ยาแรงที่สุดมาแล้ว คุณหมอถึงกับนั่งยองๆ ข้างเตียง แล้วบอกว่า " ต้องลองดูสักตั้ง "

ต่อมาคุณหมอธีรศักดิ์ก็เข้ามาเยี่ยมเช่นกัน พุดคุยกัน ดูคุณหมอจะยังลังเลใจถึงผลการสรุปว่า ผมเป็นผู้ทุพพลภาพ จะมีเหตุผลอย่างไร คงต้องติดตามต่อในตอนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงอีกสัก 2-3 ตอนครับ

คุณหมอ อยากให้ผมทำกายภาพบำบัดที่นี่ ซึ่งผมก็ปฏิบัติตาม แต่เนิ่องจากผมให้ความสำคัญเรื่องแผลกดทับมากกว่า จึงของดทำกายภาพบำบัดที่นี่ คุณหมอก็อนุญาติ ตรงนี้ต้องขอบพระคุณ คุณหมอที่เข้าใจผม และไม่แสดงท่าทีใดๆ เลย ทำให้ผมรู้สึกดี และสบายใจมาก

และที่นี่ มีเรื่องที่ผมรู้สึกดีๆ อีกมากมายครับ

ตอนนี้ผมขอจบแค่นี้ก่อน ตอนหน้าผมขอพูดถึงนางพยาบาลและผู้ช่วยฯ ที่น่าชื่นชมของที่นี่ครับ


ขอบคุณครับ

ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 086-314-7866
email : preeda.limnontakul@gmail.com
update : April 10, 2007

5 comments:

  1. เมื่อ อา. 29 เม.ย. 2550 @ 02:44 [242039] [ลบ]
    บันทึกนี้เป็นเครื่องยืนยันให้คุณ นิดา จากบันทึกก่อนๆได้ว่า คุณปรีดาเป็นคนที่คิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเลยค่ะ น่านับถือและชื่นชมมากๆที่คนในสภาพคุณปรีดา ไม่มองอะไรแต่ในด้านของตัวเอง เป็นห่วงเป็นใยคนปกติอื่นๆได้มากกว่า พวกเรากันเองเสียอีก

    คงยังมีเรื่องเล่าอีกยาวไกลใช่ไหมคะ จะติดตามรับความรู้ ความคิด แง่คิดดีๆในการมองโลก เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวของคุณปรีดาต่อไป และอยากจะเชื่อว่าจะมีปาฏิหารย์เกิดขึ้นกับ"คนคุณภาพพิเศษ"อย่างคุณปรีดาจังเลย

    ReplyDelete
  2. zuni วันที่ : 07/08/2007 เวลา : 10.28 น.
    http://www.oknation.net/blog/zuni



    ที่รู้มาคือ ไม่ควรอยู่นิ่งในท่าหนึ่งท่าใดนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับค่ะ ยังไงก็อย่านั่งท่าเดียวนานเกิน 2 ชั่วโมงนะคะ ถ้ายังไงก็นั่งบนที่นอนลมยางนั่นแหละค่ะดีที่สุด

    ReplyDelete
  3. รบกวนช่วยแนะนำเตียงลมให้หน่อยได้ไหมครับ ยี่ห้อไหนดี
    กำลังจะซื้อให้คุณยายใช้ครับ เลือกไม่ถูกครับ

    ReplyDelete
  4. สวัสดีครับคุณนุช

    กลับเป็นนเรื่องแปลก ที่ผมเคยใช้ดเบาะรองนั่งที่มีจำหน่ายทั่วไป (ราคาหลักหลายพันบาท ถ้าอย่างดีก็ถึง 9,000 บาท) แต่กลับรู้สึกไม่ชอบ รู้สึกแปลก จึงใช้เพียงเบาะรองนั่งแบบผ้าที่มีขายยทั่วไปตามห้างสรรพสินค้าอันละเพียง 70 บาท แต่ผมคิดว่ามีเหตุผลสำคัญ 2 เรื่อง คือ

    1. ผมฝึกจนเป็นนิสัย หมั่นเอี้ยว-เอียงตัว เพื่อถ่ายเทน้ำหนัก ที่ตำแหน่งก้น จนมีหลายคนบอกว่า ผมอยู่ไม่นิ่ง โดนถามสม่ำเสมอ แต่ก็จำเป็นต้องมีบุคลิกแบบนี้ เมื่ออธิบายทุกคนก็เข้าใจดี ตอนี้พฤติกรรมนี้กลายเป็นบุคลิกปกติของผมไปแล้ว
    2. พยายามหาน้ำหนักที่เหมาะสมของตัวเอง ถ้าผอมไปจะมีปุ่มกระดูก อาจทำให้เป็นแผลกดทับง่าย หากอ้วนไปเนื้อกดเนื้อ ก็อาจเป็นแผลกดทับง่ายเช่นกันครับ อ่านเพิ่มเติมที่ http://preedastation.blogspot.com/2007/04/blog-post_10.html ครับ

    ขอบคุณครับ
    ปรีดา

    ReplyDelete
  5. สวัสดีค่ะ

    เบาะรองนั่งแบบลมที่ราคาแพง เท่าที่หาข้อมูลก็ชำรุดง่าย
    และยังไม่รู้ว่าจะเหมาะกับเราหรือเปล่า
    ส่วนแบบเจลเป็นปุ่มๆ ทั่วเบาะ มีคนนำมาให้ใช้นั่งแล้วก็เจ็บค่ะ
    จะไปลองหาแบบผ้านุ่มๆ มาลองใช้บ้างค่ะ
    เคยคิดเหมือนกันว่าน่าจะดี เบา ดูแลง่าย แต่ไม่เคยมีใครพูดถึง

    ส่วนเรื่องน้ำหนักตอนนี้มากไปหน่อยค่ะ กำลังพยายามลด
    แต่ยังติดปัญหาเรื่องลักษณะอาหารที่ทางบ้านทานกันค่ะ
    คงต้องค่อยๆ แก้ไขต่อไป

    ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

    ReplyDelete

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook