รู้จักนักกายภาพบำบัด

วิชาชีพหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญมากในความคิดของผม และในความเป็นจริงก็ควรจะเป็นอย่างนั้นด้วย เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มพิการ และทุพพลภาพ หรือมีอาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องมีการฟื้นฟู ร่างกายในส่วนต่างๆ ต้องอาศัยคำแนะนำจาก " นักกายภาพบำบัด " ซึ่งในต่างประเทศถือว่าเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณวุฒิ ไม่ด้อยไปกว่าวิชาชีพใดเลยทีเดียว

งั้นเราลองมาทำความ " รู้จัก กับ นักกายภาพบำบัด " กันครับ

ที่ผมกล่าวถึงนักกายภาพบำบัดด้วยความรู้สึกเช่นนี้ ก็เพราะว่า ด้วยความเป็นคนที่เชื่อในเหตุ และผลของตัวผมเองแล้ว ทำให้ผมได้ความรู้ และคำแนะนำที่เป็นเหตุ เป็นผลจากนักกายภาพบำบัดมาก ในระดับที่ทำให้ผมเชื่อฟังคำแนะนำมากกว่าแพทย์ ในบางเรื่องนะครับ

โดยเฉพาะเรื่องร่างกายของผมที่คุณหมอบอกรายละเอียด ต่างจากนักกายภาพบำบัด (แต่หลังจากนั้น เมื่อเวลาผ่านมาสักระยะ ผมคิดเอาเองว่าคุณหมอคงจะให้กำลังใจผมมากกว่า จึงให้รายละเอียดไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ก็เพราะอาจจะเป็นไปได้อีกว่า ร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ต่างกัน การฟื้นตัวต่างกัน คุณหมอจึงไม่กล้าสรุป หรือฟันธง เพราะผมก็ช่างซัก เสียเหลือเกิน)

มีเรื่องขำๆ ตลกๆ ในโรงพยาบาลเรื่องหนึ่ง สืบเนื่องจากว่า ผมเป็นคนช่างซัก-ถาม และน่าจะมีความเป็นไปได้ว่า ทางคุณแม่ผมอาจจะกำชับกับคุณหมอว่า ไม่ให้ผมรู้ความจริง เพราะกลัวว่าจะเสียใจ-รับไม่ได้ ที่จะกลายเป็นคนทุกพลภาพ

ดังนั้นเวลาคุณหมอเข้ามาเยี่ยมผมตอนเช้า แล้วผมเริ่มซักถาม คุณหมอจะค่อยๆ ก้าวถอยหลัง ทีละก้าวๆ แล้วก็สวัสดี ออกจากประตูไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผมนึกถึงทีไร ก็จะขำขึ้นมาทุกที

คงจะเป็นเพราะว่า ได้ใกล้ชิดกับนักกายภาพบำบัด ได้มีโอกาสซักถาม ทำให้ได้รับคำอธิบายที่ทำความเข้าใจได้ และนักกายภาพบำบัดยังตอบข้อสงสัยให้ผมได้เกือบทั้งหมด สิ่งไหนที่ยังไม่สามารถตอบได้ ก็จะหาคำตอบมาให้ ผมจึงมีความรู้สึกถึงความสำคัญของนักกายภาพ และให้ความสำคัญกับ นักกายภาพบำบัด และ การทำกายภาพบำบัด

ที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 นี้เองที่ผมได้พบกับนักกายภาพบำบัด และได้รับรู้คำว่า " สิทธิ์ของผู้ป่วย 10 ข้อ " เพราะช่วงนั้น ผมเริ่มสนใจสิทธิ์ของตัวเอง เนื่องจากผมเริ่มติดเชื้อค่อนข้างรุนแรง ทำให้ผมกังวลใจ

เบื้องต้น ผมได้รับการทำกายภาพบำบัด ที่ห้องพิเศษ เพราะยังมีอาการเจ็บที่คออยู่ ช่วงแรกแขนและมือทั้งสองข้างของผมมีอาการเกร็ง และบิด จึงได้รับการดูแลในลักษณะ passive ก่อน คือเป็นการทำกายภาพในลักษณะที่ นักกายภาพบำบัดเป็นผู้กระทำให้ฝ่ายเดียว เพื่อลดอาการเกร็ง

ที่ช่วงขา ผมก็ได้รับการทำ passive ด้วยเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่นักกายภาพบำบัดให้ความสำคัญ คือเรื่องการหายใจ ซึ่งสัมพันธ์กับปอด คือนักกายภาพบำบัดต้องการให้ผมฝึกปอดให้แข็งแรง เพราะจะส่งผลต่อระบบการหายใจ เช่น ถ้ามีเสลดซึ่งอาจลงปอดได้ จำเป็นต้องให้ปอดมีความแข็งแรงในระดับที่สามารถสั่งเสลดได้ (ทุกวันนี้ผมยังทำไม่ได้เลยครับ)

ผมต้องฝึกเป่าอุปกรณ์ชนิดหนึ่งเรียก " ไตรโฟลว์ ( tri-flow) " เพื่อให้เราฝึกช่วงการหายใจได้ยาวๆ และจะทำให้ปอดแข็งแรงขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ผมเริ่มได้รับคำแนะจากนักกายภาพบำบัด ให้หายใจเข้าไปที่บริเวณท้อง เพราะเวลาต้องพูดนานๆ มากๆ ผมดูจะหายใจไม่ทัน (ปัจจุบันผมหายใจไปที่ท้องจนเป็นเรื่องปกติ ถ้าไปที่ปอด ให้ปอดขยายเหมือนคนทั่วไป ต้องตั้งใจ ถึงจะทำได้)

วันเวลาผ่านไป ผมติดเชื้อมากขึ้น หมายถึงมีอาการเป็นไข้ทุกวัน

ผมเริ่มมีแผลกดทับโดยไม่รู้ตัว ทีละนิด ทีละหน่อย มากขึ้น มากขึ้น

ผมเริ่มผิดสังเกตุกับอากัปกิริยา ของคนใกล้ชิด และเพื่อนๆ ที่มาเยี่ยม เพราะทุกคนรู้ว่าผมต้องเป็นทุกพลภาพแน่นอน

คำตอบที่ได้จากนักกายภาพบำบัดเรื่องร่างกายของผม มีทีท่าเกรงใจ หรือแปลกๆ ชอบกล

ผมเหมือนกลายเป็นนักสืบกลายๆ ยังไงไม่รู้ แถมเป็นนักสืบชั่วคราวที่ต้องนอนเฉยๆ ซะด้วย หันคอก็ไม่สะดวก

ชีวิตผมเริ่มท้าทายอีกแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ดูจะยาวไปแล้ว เดี๋ยวจะเกินหัวเรื่อง " รู้จักนักกายภาพบำบัด " ขอจบตรงนี้ก่อนครับ

ขอบคุณครับ

ปรีดา ลิ้มนนทกุล

mobile : 086-314-7866

email : preeda.limnontakul@gmail.com

Date : April 7, 2007

8 comments:

  1. เมื่อ อ. 17 เม.ย. 2550 @ 01:31 [227254] [ลบ]
    อ่านไปก็ยิ้มไปกับความเข้มแข็งของคุณ สู้นะค่ะคิดอยู่อย่างเดียวว่าเราต้องหายค่ะ เป็นกำลังใจให้น้องเสมอ(ขออนุญาตเรียกน้องนะคะเพราะอายุน้อยกว่าราณี)

    ReplyDelete
  2. เมื่อ พ. 18 เม.ย. 2550 @ 00:43 [228647] [ลบ]
    การดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วย นี่ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากหลาย ๆ ทาง ครับ ขอบคุณแทนนักกายภาพบำบัดทุกคนด้วยครับ ที่เห็นความสำคัญ

    ReplyDelete
  3. เมื่อ อา. 29 เม.ย. 2550 @ 01:00 [241992] [ลบ]
    เริ่มเข้าใจบุคลิกคุณปรีดามากขึ้นๆจากการอ่านเรียงบันทึกมาเรื่อยๆ ต้องขอบอกว่าชื่นชมในความเป็นคนเข้าใจผู้อื่นของคุณปรีดามากๆเลยค่ะ สังเกตได้ว่าคุณปรีดามักจะบรรยายได้เหมือนกับคนเขียนบทละคร มากกว่าการเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่ง เยี่ยมมากๆค่ะ ไม่ต้องแปลกใจแล้วว่า ทำไมเราจึงได้อ่านประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งนี้ เพราะความเป็นคนคุณภาพของคุณปรีดานี่เองค่ะ สังขารจึงเป็นเรื่องรอง "จิตใจ"สำคัญที่สุดจริงๆ

    ReplyDelete
  4. รอยยิ้มจางๆ วันที่ : 21/07/2007 เวลา : 20.05 น.
    http://www.oknation.net/blog/wana22



    เพื่อนรุ่นพี่หวานคนนึงค่ะ ป่วยเป็น หมอนรองกระดูกเสื่อม
    ผู้หญิงค่ะอายุ 39 ปี เหตุเพราะ ทำงานหนัก ยกของหนักมาก ทำกายภาพมา 7 เดือนแล้วค่ะ แค่ทุเลาเอง

    ReplyDelete
  5. rainny วันที่ : 22/07/2007 เวลา : 13.25 น.
    http://www.oknation.net/blog/rainny
    Good Times



    ดีใจที่คุณยังมีอารมณ์ขันนะคะ

    ReplyDelete
  6. apooh วันที่ : 22/07/2007 เวลา : 19.21 น.
    http://www.oknation.net/blog/bedtaled
    มีคนเคยบอกว่าเลขโปรดของเขาคือ 51ยังอีกไกลกว่าจะถึง100แต่ 51 ก็เกินครึ่งมาแล้ว



    สู้ สู้ค่ะ

    ReplyDelete
  7. zuni วันที่ : 22/07/2007 เวลา : 20.36 น.
    http://www.oknation.net/blog/zuni



    ต้องติดตามอ่านไม่ให้ขาดตอนค่ะ

    ReplyDelete
  8. ในปีนี้ ได้มีโอกาสพาคนหูหนวกไปทำกายภาพบำบัด(หัวไหล่) เพิ่งรู้ว่านักกายภาพบำบัดต้องทำหน้าที่ซ้ำๆ พบกับผู้ป่วยบ่อย จนสนิทเป็นญาติกันไปเลย เพราะอาทิตย์หนึ่งเจอกันอย่างน้อย 2วัน แล้วต้องเจอกันแบบนี้ตลอดระยะเวลา2ปี(ถ้าเป็นมา1ปี ต้องใช้เวลาบำบัด2ปี)

    ReplyDelete

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook