45 : ข้อสังเกตุเรื่องหลังตรง ขาลีบช้า

สวัสดีครับ ตอนนี้ผมอยากจะเขียนให้เพื่อนๆ อ่านเกี่ยวกับเรื่อง " เวลานั่ง หลังของผมจะตรง " และ " ขาของผมลีบ ค่อนข้างช้า "
เกี่ยวกับ " หลังของผม " ตั้งแต่ผมรถคว่ำ จนเป็นผู้ทุพพลภาพ ในช่วงแรกผมไม่สามารถนั่งได้ และคุณหมอที่ทำการผ่าตัดผม ก็มั่นใจว่าผมต้องเป็นผู้ทุพพลภาพอยู่แล้ว จึงสามารถออกใบรับรองแพทย์ให้ได้ทันที แต่หลังจากที่ผมย้ายมารักษาตัวที่พญาไท 1 ผมจึงได้พอมีโอกาสได้นั่งบ้าง ไม่กี่ครั้งเพราะผมยังมีแผลกดทับขนาดใหญ่ที่ก้นกบอยู่ ซึ่งปรากฏว่า " แผ่นหลังของผมเวลานั่งแล้ว ตรงเป๊ะ " ตามรูปที่เห็นครับ ทั้งๆ ที่ระดับของการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง (spinal cord injury) ที่ตำแหน่ง C6-7 นั้น หลังของผมต้องอ่อน งอ ไม่ควรตรงแบบนี้
หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นๆ ด้วยก็ได้ ประกอบกัน เช่น ถ้าคุณหมอที่พญาไท 1 จะมั่นใจว่าผมเป็นผู้ทุพพลภาพ จำเป็นต้องดูผลจาก MRI ก่อน จนผลออกมาแล้ว คุณหมอก็ออกใบรับรองแพทย์ให้ ดังนั้นตัวผมเองก็ครุ่นคิดมาตลอดเป็นระยะๆ ว่า ที่หลังของผมตรงเกิดจากอะไร เพราะตามหลักการของอาการป่วย ไม่ควรเป็นแบบนี้

ผมเริ่มนึกไล่ย้อนไปเรื่อยๆ เมื่อมีเวลาว่างที่จะนึกถึง ผมเคยปวดเอวจากการขับรถมาก ซึ่งก็ไม่น่าจะเกี่ยวเท่าไหร่ แต่ก็ทิ้งประเด็นนี้ไม่ได้ เพราะอาจเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย ผมนึกต่อ เวลาผมนั่งเหยียดขา เมื่อผมจะพยายามให้ตัวตรง หรือถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจน คือนั่งเหยียดขากับพื้น แล้วเอาหลังพิงกำแพงให้ตั้งฉาก ปรากฏว่า " ผมจะปวดหลังมาก " และผม " ไม่สามารถโน้มตัว เอาปลายนิ้วมือ ไปแตะปลายนิ้วเท้าได้ " คือหลังของผมจะไม่โค้งงอ มันจะไปทั้งแผ่นหลัง ผมไม่รู้ว่าจะพอเรียกว่า " หลังแข็ง " ได้ไหม ไม่แน่ใจ แล้วนี่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมหลังตรงใช่หรือไม่ ผมก็ไม่รู้อีกจนได้ เพราะปัจจุบันก็ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าผมสั่งการกล้ามเนื้อได้อย่างแน่นอน เพราะผมไม่รู้สึกอะไร



ภาพขณะกำลังทำกายภาพ นั่งบนเตียง ห้อยขามาวางบนเก้าอี้ ฝึกการทรงตัวครับ

แล้วผมทำไมหลังถึงตรงแบบนี้ ผมยังคงพยายามนึกต่อ จนวันหนึ่งได้พูดคุยกับนักกายภาพ และผมก็แว๊บเข้ามาในหัวว่า ตอนเด็กๆ ผมฝังใจมากว่า มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่า " เด็กดี ต้องนั่งหลังตรง " ผมจึงนั่งหลังตรงมาตลอด เวลาเรียนผมจะไม่เอาหลังพิงพนักเก้าอี้ ยกเว้นเวลาคลายเครียดหรือพักผ่อน จนกลายเป็นนิสัย ปฎิบัติตั้งแต่เด็กจนโต แม้แต่ก่อนรถคว่ำก็ตาม ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ผม "หลังแข็ง" จนทุกวันนี้ นี่ไม่ใช่บทสรุปนะครับ เป็นแค่ข้อสันนิษฐานส่วนตัวเท่านั้น
ลองมาดูอีกเรื่องของผม คือ " ขาผมไม่ค่อยลีบเท่าไหร่ " หรืออาจจะมองได้ว่า " ลีบช้า " ก็ได้ แต่ผมก็มั่นใจว่ายังไงๆ ก็ต้องลีบ เพราะนั่ง - นอน อยู่แต่บนเตียง เพียงแต่ถ้ามองผิวเผินเหมือนไม่ลีบเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงต้องคิดต่อครับว่า " ทำไมดูไม่ลีบ หรือ ลีบช้า "

ผมคิดเองจากเหตุผลที่ว่า โดยปกติ ขาของผมจะมีอาการเกร็ง เป็นระยะๆ ทุกวัน ซึ่งนักกายภาพบำบัดเคยบอกว่า การมีอาการเกร็งนั้นดีกว่าไม่มี แต่มีมากก็ไม่ดี กรณีของผมมีอาการเกร็งที่ไม่สร้างปัญหาในการดำเนินชีวิต ผมคิดเอาเองนะครับว่า " อาการเกร็ง " น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ขาไม่ลีบ แต่หลังจากที่ได้มีโอกาสคุยกับนักกายภาพฯ ก็พอจะเข้าใจว่าอาการเกร็งมีผลน้อย และการที่ผมทำกายภาพฯ เป็นประจำก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่จะมีน้ำหนักพอว่าทำให้ขาไม่ลีบ



ผมนำภาพถ่ายช่วงขาของผมมาให้ดูครับ ขายังไม่ลีบเท่าไหร่ทั้งๆ
ที่เป็นผู้ทุพพลภาพมา 5 ปี 8 เดือนแล้ว
การที่ขาไม่ลีบ หรือลีบช้า น่าจะเกิดจากการที่ว่า ผมมีปัญหาที่ " ไขสันหลัง " ไม่ใช่ที่ " เส้นประสาท " ถ้าเป็นที่เส้นประสาทเสียหาย หรือ ขาด น่าจะทำให้กล้ามเนื้อขาลีบเร็วกว่านี้ ดังนั้นแล้วการที่ขาของผมลีบช้า คงมีหลายเหตุผลมา support เช่น 1.บาดเจ็บที่ไขสันหลัง ไม่ใช่เส้นประสาท 2.ทำกายภาพฯ เป็นประจำ 3.มีอาการเกร็งเป็นประจำในระดับที่พอเหมาะ
บทความในตอนนี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนตัว ที่ไม่ได้มีการพิสูจน์อย่างถูกต้อง แต่ผมก็อยากจะเล่าสู่กันฟัง ให้ได้อ่าน เผื่อจะเป็นข้อคิดให้กับเพื่อนๆ ได้บ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วย
ขอบคุณครับ


ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 086-314-7866
Tel. & Fax.: 02-924-2726
email : preeda.limnontakul@gmail.com

update : July 15, 2007

1 comment:

  1. ณัฐกฤตา
    เมื่อ อา. 29 ก.ค. 2550 @ 14:24 [333821] [ลบ]
    สวัสดีค่ะดิฉันเป็นนักกายภาพบำบัดได้เข้ามาอ่านบทความที่เขียนถึงเรื่องราวอาการของคุณปรีดาเองได้อย่างดีมากๆบอกรายละเอียดได้อย่างเข้าใจขอชมเชยค่ะ.....จริงๆแล้วอาการของขาลีบช้าลงที่เป็นข้อสงสัยว่ามีปัจจัยอะไรบ้างมีหลายอย่างด้วยกันค่ะ

    ข้อแรกเป็นไปได้น่ะค่ะว่าแต่ก่อนกระดูกช่วงเอวดีไม่มีการกดทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณขาจึงทำให้เส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นดีจากการที่นั่งหลังตรงมาตลอด

    2.การทำกายภาพบำบัดทุกวัน......ชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ(ไม่ทราบว่ารักษาด้วยเครื่องมือใดบ้างค่ะมีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าบ้างหรือเปล่าค่ะ)เป็นการกระตุ้นการไหลเวียนลดภาวะอารการแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมา

    3.ภาวะจิตใจที่ดี....เมื่อเราไม่มีความเครียดร่างกายและกล้ามเนื้อก็จะไม่เครียดการไหลเวียนดีcellทุกcell active เป็นสาเหตุหนึ่งเช่นกัน

    ถ้ามีอะไรสงสัยอีกพอที่จะตอบได้ก็ยินดีน่ะค่ะจะเข้ามาเยี่ยมเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

    ReplyDelete

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook