135: ถึงคราวที่ผมมีอาการ "ภาวะรีเฟ็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติ" (Autonomic Dysreflexia, AD) ตอนที่ 2/5 การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีเกิดภาวะ AD

สวัสดีครับเพื่อนๆ สำหรับตอนที่ 1/5 ผมได้เล่าอาการที่คล้ายภาวะอาการเอดี (AD) ให้เพื่อนๆ ได้ทราบแล้ว ผมกับภรรยากำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งในอดีตนั้นสำหรับผมถือว่ารุนแรง แต่เมื่อ 15 ก.ค.62 ที่ผ่านมานั้น ผมใจเย็นขึ้นเยอะกับอาการที่เป็น ดังนั้นลำดับแรกเลย คือ ตัวคนพิการบาดเจ็บไขสันหลัง ต้องไม่ตระหนกและไม่โวยวายให้คนใกล้ตัวรู้สึกว่ามันรุนแรง ถึงแม้ว่ามันจะเจ็บปวดมากก็ตาม ความรู้สึกนี้ผมได้ข้อคิดจากน้องๆ คนพิการหลายคน คือ ผมเคยสอบถามน้องคนพิการบาดเจ็บไข้สันหลังถึงอาการภาวะ AD ฟังแล้วก็ทรมาน บางคนมีอาการมากกว่าผมเสียอีก สำคัญที่สุดคือ เขาเหล่านั้นยังคงพูดคุยกับผมอยู่ แปลว่า พวกเขายังไม่เสียชีวิตจากภาวะอาการ AD ทำให้เมื่อ 15 ก.ค.62 ผมลองอดทนกับอาการปวดท้ายทอยดูสักตั้ง แน่นอนว่า ผมเองก็ต้องยอมรับว่าจะส่งผลกระทบกับกรวยไตแน่นอน เนื่องจากมาควบคู่กับอาการปัสสาวะตัน

ทำให้ผมใจสู้ขึ้นมา บอกภรรยาว่า ไม่ได้ปวดอะไรมาก จนการปวดหัวบริเวณท้ายทอยหายไป อดทนต่ออีกนิด ด้วยความเชื่อมั่นว่า แรงดันในกระเพาะปัสสาวะนั้นมีมาก ในที่สุด ปัสสาวะก็พุ่งออกมาทางอวัยวะเพศ จนตัวผมเองรู้สึกได้ว่าอาการปวดตึบๆ บริเวณศีรษะลดลง แต่เนื่องจากอวัยวะเพศยังคงหดตัว ไม่สามารถสอดสายสวนเข้าไปได้ สิ่งที่ทำได้คือ การสงบจิตใจ จนทำให้ผ่อนคลาย พักใหญ่หลังปัสสาวะออกจนหยุด อวัยวะเพศจึงขยายตัวขึ้น ทำให้สามารถสอดสายสวนเข้าไปได้ ทำจนจบขั้นตอนใส่ถุงเก็บปัสสาวะ ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ

ต้องให้ข้อมูลเพื่อนๆ ที่อ่านบทความชุดนี้เพิ่มเติมว่า ผมให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสายสวนอย่างมาก ดังนั้น ตั้งแต่กลายเป็นคนพิการรุนแรงใหม่ๆ ก็รบกวนนางพยาบาลฝึกน้องสาวให้สามารถเปลี่ยนสายสวนได้ เมื่อ 18 ปีก่อน จนผมาแต่งงาน น้องสาวก็สอนภรรยาต่อให้สามารถเปลี่ยนสายสวนได้ จึงทำให้ผมไม่ต้องไปเปลี่ยนสายสวนที่โรงพยาบาล แต่ยังคงต้องรบกวนทางนางพยาบาลที่ดูแลกันมาตลอด 18 ปี ให้ช่วยมาล้างตะกอนในกระเพาะปัสสาวะทุกๆ 3-12 เดือน ขึ้นกับภาวะสายสวนตันจากตะกอนว่ามีมากเท่าไหร่ หรือรุนแรงเท่าไหร่




เหตุการณ์ที่ผมมีภาวะ AD นี้ เกิดขึ้นเมื่อล่าสุด 15 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และที่ผมต้องเขียน 5 ตอน เพราะว่า ผมจะขอท้าวความย้อนหลังไปเมื่อ 2 ปีก่อน (ปี 2560) ที่ผมมมีอาการภาวะ AD รุนแรง ณ ความรู้สึกของผมในช่วงนั้น เพราะผมไม่เคยเป็นมาก่อน และไม่รู้จักอาการภาวะเอดี (AD) มาก่อน มันมีอาการรุนแรงมากๆ สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สำหรับตอนที่ 2/5 นี้ ผมได้เล่าถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เพื่อนๆ ได้ทราบ จึงขอฝากแนวคิดไว้ดังนี้ครับ

"เมื่อเราจำเป็นต้องเจ็บปวด และประเมินสถานการณ์ได้ เราควรอดทน สงบสติอารมณ์ เพื่อคนรอบข้างสามารถช่วยเหลือเราได้อย่างไม่กังวลใจ" 

สำหรับในตอนที่ 3/5 ผมอยากย้อนอดีตไปเมื่อ 2 ปีก่อน ถึงสถานการ์ที่ผมต้องประสบกับภาวะอาการเอดี (AD) ตกใจ กับความดันที่สูงเกือบ 200 หน่วย อย่างมาก แล้วผมผ่านช่วงเวลาสำคัญนั้นอย่างไร สอดคล้องกับปัจจุบัน 2 ปีต่อมา ทำให้ผมต้องรีบแก้ปัญหาเหมือนเมื่อ 2 ปีก่อน อย่างเร่งด่วน พร้อมกับตัดสินใจเขียนบทความพิเศษ 5 ตอนนี้ขึ้นมาครับ

สามารถดาวน์โหลดคู่มือการดูแลตัวเอง กลุ่มบาดเจ็บไขสันหลังระดับคอ ที่ลิงก์นี้
http://www.snmri.go.th/sci/download/tetra.pdf

พิมพ์เมื่อ 15 กรกฎาคม 2562


No comments:

Post a Comment

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook